lundi 23 juillet 2012

Fête de Songkrane

วันสงกรานต์

                   คำว่า สงกรานต์มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การผ่าน หรือ การย้าย โดยการนับระยะเวลาที่เส้นทางของดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์จักราศีทั้ง 12 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มดาวราศ๊ เมษ พฤษภ เมถุน กรกฎ สิงห์ กันย์ ตุลย์ พิจิก ธนู มังกร กุมภ์ และมีน การโคจรผ่านกลุ่มดาวแต่ละกุล่มจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30 วัน เมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาวเหล่านี้ครบทั้ง 12 กุล่ม ก็จะได้ระยะเวลา 1 ปีพอดี เป็นวิธีการนับเดือนที่ใช้กันประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น วันที่ 13 เมษายน เป็นวัน มหาสงกรานต์หรือ วันเริ่มต้นปีใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษนั้น โลกโคจรเป็นมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จึงมีกลางันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ประจำปี มี 3 วัน คือ วันมหาสงกรานต์ หรือ วันส่งท้ายปีเก่า (วันที่ 12 เมษายน) วันกลาง หรือ วันเนา (วันที่ 14 เมษายน) วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเถลิงศก (วันที่ 15 เมษายน)
        

  ตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์
                   เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ นางสงกรานต์มีชื่อดังนี้ วันอาทิตย์ ชื่อนางทุงษ วันจันทร์ชื่อนางโคราค วันอังคารชื่อนางรากษส วันพุธชื่อนางมณฑา วันพฤหัสชื่อนางกิริณี วันศุกร์ชื่อนางกิมิทา วันเสาร์ชื่อนางมโหทร นางสงกรานต์เป็นธิดาของท้าวมหาสงกรานต์ หรือ ท้าวกบิลพรหม มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพานแว่นฟ้า เนื่องจากท้าวกบิลพรหมแพ้พนันการตอบปัญหาแก่ธรรบาลกุมาร ก่อนจะตัดเศียรของท้าวกบิบพรหมเป็นที่รวมแห่งความร้อนทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง ธิดาทั้ง 7 จึงผลัดเปลี่ยนกันถือพานรองเศียรของท้าวกบิลพรหมไว้คนละ 1 ปี

คุณค่าและความสำคัญ

                  ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัตมาแต่โบราณ ช่วงวันสงกรานต์จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสนา ทำให้สมาชิกของครอบครัวได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันเพื่อแสดงความกตัญญูกติเวทิต เช่น ลูกหลานนำสิ่งของมาเยี่ยมเยียน และรดน้ำขอพรจากบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทรายและเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังสร้างความรู้สึกผูกพันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน และสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่ต่างๆ

กิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริม

ประเพณีสงกรานต์มีกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติ ดังนี้
- การเตรียมเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ที่สะอาด เรียบร้อย เพื่อไหว้บิดา มารดา หรือญาติผู้ใหญ่
- การทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย บริเวณต่างๆในชุมชนที่อยู่ เช่น วัดวาอารามที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับทำบุญและที่สาธารณะต่างๆ
- การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปเลี้ยงพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพารีที่ล่วงลับไปแล้ว
- การก่อพระเจดีย์ทราย โดยขนทรายเข้าวัด แล้วก่อเป็นรูปเจดีย์หรือสัตว์ต่างๆ ปักธงหลากสี มีธูปเทียนและดอกไม้เป็นเครื่องบูชาพระ เพื่อให้วัดนำทรายไปใช้ในการก่อสร้างและการสาธารณประโยชน์ต่างๆ
- การทำงาน โดยการปล่อยนก ปล่อยปลา รวมทั้งการฟังเทศน์ ถือศีลปฏิบัติธรรม
- ทำบุญ บังสุกุลอัฐิ และอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับแล้ว
- การสรงน้ำพระพุทธรูป โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เช่น ดอกมะลิ
- สรงน้ำพระภิกษุสามเณรด้วยน้ำสะอาด หรือถวายผ้าสงบหรือผ้าไตร
- การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่โดยใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทย ลอยด้วยดอกไม้สด เช่นดอกมะลิ หรือตามประเพณีนิยมท้องถิ่นนั้นๆ
- การเล่นสาดน้ำโดยใช้น้ำสะอาด และเล่นอย่างสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะ ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
- การละเล่นรื่นเริงอื่นๆ ตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้นๆ
เนื่องจากในปัจจุบันการเล่นสงกรานต์มีกิจกรรมบางอย่างที่มีการปฏิบัติในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งควรจะมีการป้องกันและแก้ไข ได้แก่
1. การเล่นสาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น ใช้ปืนฉีดน้ำชนิดอัดลม การใช้น้ำสกปรก หรือของเหลวที่เน่าเหม็น การขว้างปาถุงน้ำแข็ง ทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือสร้างความไม่พอใจ
2. การประแป้งหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะส่อไปในทางกระทำอนาจาร เช่น ใช้มือลูบคลำใบหน้า หน้าอก หรือสะโพกของสุภาพสตรี
3. การประกวดเทพีสงกรานต์ หรือประกวดในลักษณะอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น แต่งกายด้วยชุดว่ายน้ำ ประกวดเทพีสงกรานต์สาวประเภท 2 เป็นต้น 

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

1. การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคุณค่าและสาระที่สำคัญของประเพณี และรูปแบบกิจกรรมการปฏิบัติที่เหมาะสมตามประเพณี
2. การส่งเสริมการเรียนรูประเพณีท้องถิ่นในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย

เอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์แต่ละท้องถิ่น

สงกรานต์ภาคเหนือ

                วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเหนือ ถือกันว่าเป็นวันสังขารล่อง (อายุสังขาร คือ อายุของมนุษย์) ได้ล่วงเลยไปอีก 1 ปี และเป็นวันที่สุดของศักราชเก่า เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ตอนเช้ามีการยิงปืนขับไล่เสนียดจัญไร การทำความสะอาดบ้านเรือน การชำระล้างร่างกาย การสระผม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด หลังจากนั้นก็ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เรียกว่า ไปแอ่วปีใหม่ในวันนี้เริ่มมีการเล่นรดน้ำกันแล้ว วันรุ่งขึ้นเป็นวันเนาว์ หรือ วันดา มีการตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ ตอนบ่ายมีการขนทรายจากแม่น้ำนำไปไว้ที่วัดใกล้บ้าน แล้วร่วมกัน่กอพระเจดีย์ทรายตามลานวัด ตกแต่งด้วยตุงหรือธงชายอย่างสวยงาม มีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกสาน วันที่สามเป็นวันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก ตอนเช้ามีการเตรียมอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด เพื่อทำบุญและนำอาหารไปให้แก่ผู้เฒ่าแก่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนนำไปถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่าไป ทานขันข้าว เสร็จจากการทานขันข้าวก็จะมีการถวายทานเจดีย์ทราย ปล่อยนกปล่อยปลา การสรงน้ำพระเจดีย์ การค้ำต้นโพธิ์ภายในวัดและหมู่บ้าน การสรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในวันนี้จะมีการไปดำหัว เพื่อการไป สุมาคารวะ โดยลูกหลานจะพากันไปขอขมาลาโทษในความผิดต่างๆที่เคยกระทำต่อผู้ใหญ่ การดำหัวจะทำไปเรื่อยๆ จนถึงวันปากปี ในวันปากปีจะมีการจัดขบวนแห่ดำหัวซึ่งแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง และมีการจัดต้นดอก (พุ่มดอกไม้) อย่างสวยงาม มีการฟ้อนนำขบวนไปดำหัวพระผู้ใหญ่ เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด (เจ้าเมือง) เป็นต้น ในวันนี้ก็จะมีการดำหัวกู่ คือ การไปดำหัวอนุสาวรีย์บรรพบุรุษของตระกูลของตน การดำหัวเป็นวัฒนธรรมอันสูงยิ่งของภาคเหนือ เป็นการแสดงออกถึงการขออภัย การให้อภัย การแสดงความเคารพนับถือกันและกัน และจิตใจเปี่ยมไปด้วยคารวะไมตรี ความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ การเล่นสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือ ได้แก่ งานประเพณีปี๋ใหม่เมือง จังหวัดเชียงใหม่